ตำนาน “มะเมียะ” และ “เจ้าน้อยศุขเกษม” โศกนาฏกรรมความรักต้องห้ามของชาวล้านนา

โพสโดย : admin | วันที่ : 4 August 2015
หมวดหมู่ : ย้อนรอยคดีสะเทือนขวัญ, เรื่องน่าอ่าน

ตำนาน “มะเมียะ” และ “เจ้าน้อยศุขเกษม” โศกนาฏกรรมความรักต้องห้ามของชาวล้านนา

1

เรื่องของความรักเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร เราไม่สามารถกำหนด หรือขัดขวางความรัก หรือหัวใจของตัวเองได้ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นคนชนชั้นที่ต่ำกว่า หรือสูงกว่า หล่อกว่า หรือสวยกว่าเราก็ตาม เช่นเดียวกับโศกนาฏกรรมความรักนี้ ของ “มะเมียะ” และ “เจ้าน้อยศุขเกษม” ที่ชนชั้นไม่อาจขวางความรักได้

ตำนาน ความรักของ มะ เมียะ หญิงสาวชาวพม่าที่มีความรักมั่นกับ เจ้าน้อยศุขเกษม เจ้าชายล้านนา แต่ความรักต้องจบลงด้วยความโศกสลด เพราะถูกกีดกันด้วยความต่างของเชื้อชาติ ชนชั้น และสถานการณ์บ้านเมือง อันเป็นที่มาของตำนานความรักที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงเวลาสร้าง ตำนาน ปี พ.ศ. 2445-2505

สถานที่ก่อเกิด ตำนาน นครเชียงใหม่ แคว้นล้านนา (จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน)

ร้อยตรี เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือ เจ้าน้อยศุขเกษม (พ.ศ. 2423-พ.ศ. 2453) ราชโอรสองค์โตในเจ้าแก้วนวรัฐ กับแม่เจ้าจามรีมหาเทวี แห่งนครเชียงใหม่ เมื่ออายุได้ 15 ปี ถูกส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์แพทริค (St. Patrick′s School) ในเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า เมื่อเจ้าน้อยฯ มีอายุ 19 ปี ได้ออกไปเดินเที่ยวในตลาดจึงพบ มะเมียะ (พ.ศ. 2430-พ.ศ. 2505) หญิงสาวชาวพม่า แม่ค้าขายบุหรี่อายุ 15 ปี ทั้งคู่ต่างก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน จนกระทั่งได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา โดยทั้งสองได้สาบานต่อกัน ณ ลานหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่นว่า จะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น

เมื่อเจ้าน้อยฯ อายุ 20 ปี ต้องกลับนครเชียงใหม่ จึงแอบพามะเมียะกลับมาด้วย เมื่อกลับมาถึงจึงทราบว่าได้ถูกหมั้นหมายผู้หญิงไว้ให้แล้ว เจ้าน้อยฯ จึงตัดสินใจเล่าเรื่อง มะเมียะให้ฟัง แต่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะช่วงนั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษที่กำลังมีคดีความกับสยามอยู่ (นครเชียงใหม่เป็นประเทศราชของสยามในสมัยนั้น) มะเมียะจึงถูกส่งตัวกลับทันที

วันเดินทางกลับ อันจะกลายเป็นการจากลาชั่วนิรันดร์ เจ้าน้อยฯ พูดภาษาพม่ากับมะเมียะได้เพียงไม่กี่คำ นางก็ร่ำไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจในอ้อมแขนที่ยากจะแยกจากกันได้ เจ้าน้อยฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับไปหามะเมียะให้จงได้ นางจึงคุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้า สยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยฯ ด้วยความอาลัยหา ก่อนที่นางจะจากไป

นางได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าน้อยฯ แต่กลับไร้วี่แววใดๆ มะเมียะจึงตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่านางยังซื่อ สัตย์ ต่อความรักที่มีต่อเจ้าน้อยฯ

หลังจากที่ทราบข่าวการแต่งงานของ เจ้าน้อยฯ กับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ แม่ชีมะเมียะจึงเดินทางมายังเมืองเชียงใหม่และขอเข้าพบเจ้าน้อยฯ เป็นครั้งสุดท้าย แต่เจ้าน้อยฯ ไม่สามารถหักห้ามความสงสารที่มีต่อมะเมียะได้ จึงไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมียะตามคำขอร้อง เพียงแต่มอบหมายให้พี่เลี้ยงคนสนิทนำเงิน 1 กำปั่น( 800 บาท) ไปมอบให้กับแม่ชีมะเมียะเพื่อใช้ในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าน้อยฯ ให้กับแม่ชีมะเมียะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มะเมียะและเจ้าน้อยฯ ต่างสะเทือนใจเป็นที่สุด หลังจากเหตุการณ์นั้นเจ้าน้อยฯ ก็ตรอมใจเอาแต่กินเหล้าและสิ้นชีพิตักษัยในอีกไม่กี่ปีต่อมา ส่วน มะเมียะ ได้ครองบวชเป็น แม่ชี จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 75 ปี

ดั่งบทเพลงที่ชื่อว่า มะเมี๊ยะ ของจรัล มโนเพ็ชร ที่เขียนท่อนหนึ่งไว้ว่า “ขอลาไปก่อนแล้วจ๊าดนี้ เจ้าชายก็ตรอมใจ๋ตาย มะเมี๊ยะเลยไปบวชชี ความฮักมั๊กเป๋นจะนี้แลเฮ้อ” ความรักก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีใครสามารถออกแบบได้

ขอขอบคุณข้อมูล และเครดิตภาพจาก สุดสัปดาห์

แสดงความคิดเห็น